คำถามที่ได้ยินมากที่สุดระหว่าง Call Center กับลูกค้าใหม่ที่ยังไม่รู้จักและไม่เคยใช้บริการ OB Switching มักจะตกใจกับราคาค่าบริการที่มีราคาที่แพงเอามากๆ ซึ่งสาเหตุของราคาที่สูงนั้นมาจากการถ่ายทำ OB Switching มีต้นทุนทางด้านทรัพยากรจำนวนมาก เช่น อุปกรณ์ที่มีราคาแพง ตากล้องและผู้ช่วยตากล้องอีกหลายชีวิต มันคือการใช้ทรัพยากรในหนึ่งหน่วยจำนวนมากๆในเวลาเดียวกัน บริการ OB Switching นั้นมีทีมที่ให้บริการด้วยราคาที่ถูกและแพงหลากหลายระดับ ซึ่งระดับราคาที่แตกต่างกันจะมีสาเหตุหลักๆดังต่อไปนี้
ต้นทุนค่าอุปกรณ์
ราคาของอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานแต่ละชิ้นนั้นมีราคาที่แพงมาก เช่น เครื่อง Video Switcher ราคา 3-4 แสนบาท เครื่องบันทึกวีดีโอ ราคา 1.5-2 แสนบาท ต้องใช้อย่างน้อย 2 เครื่อง, จอ Monitor ระดับ Broadcast ราคา 5-8 หมื่นบาท อย่างน้อยต้องมี 2 จอ ยังไม่รวมอุปกรณ์การสื่อสาร กล้อง ขาตั้ง และอุปกรณ์อื่นๆจิปาถะอีกมากมาย โดยเฉลี่ยแล้วการจัดซื้ออุปกรณ์ชุด OB ที่พร้อมถ่ายทำ พร้อมกล้องจำนวน 3 ตัว ระบบไร้สาย จะต้องใช้เงินประมาณ 2-4 ล้านบาท/1 ชุด (ราคาเฉลี่ยขึ้นอยู่กับรุ่นของกล้องที่ใช้ด้วย)
บางเจ้าที่คิดราคาถูกอาจจะใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรืออาจจะเป็นอุปกรณ์ทดแทน ที่มีราคาไม่แพง แต่สามารถทำงานได้แบบชุดโอบีที่ราคาแพงก็สามารถหาได้ เพียงแต่อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานพวกนี้อาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นที่หน้างานได้ตลอดเวลา ฟังชั่นการทำงานอาจจะมีไม่มากเท่ารุ่นใหญ่ และที่สำคัญ "ความเสถียรของระบบ" ไม่สามารถเทียบกันได้กับรุ่นใหญ่ราคาแพงแน่นอน ลูกค้าจัดงานขึ้นมางานหนึ่งมีค่าเช่าสถานที่ค่าจ้างศิลปินดานักร้องแพงๆ คงไม่อยากเสี่ยงกับบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจจะทำให้ "ระบบล่ม" หรือร้ายแรงที่สุดไฟล์วีดีโออาจจะหายได้
ต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคล
เรื่องต้นทุนที่มาเป็นอันดับหนึ่งเลยคือตุ้นทุนด้านทรัพยากรบุคคล หรือ ทีมงาน นั่นเอง สำหรับทีมงานในทีมโอบีมีหลายตำแหน่งด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ ตากล้อง ผู้ช่วยตากล้อง ผู้ควบคุมสวิตเชอร์ ผู้ช่วยสวิตเชอร์ และผู้กำกับภาพ การถ่ายทำ OB 3 กล้อง ระบบสายไฟจะต้องใช้คนอย่างน้อย 7-10 คน แต่หากเป็นระบบใหม่ หรือระบบไร้สายนั้นจะใช้คนเพียง 5-6 คน แต่ละตำแหน่งก็ต้องใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำงาน ยิ่งประสบการณ์สูงค่าจ้างยิ่งแพงตามไปด้วย ฉะนั้น ตากล้องที่มีประสบการณ์สูงจึงเป็นฟรีแลนซ์กันซะส่วนมากเนื่องจากได้รับค่าจ้างที่มากกว่าการเป็นพนักงานประจำ 2-3 เท่าตัว (ค่าจ้างตากล้องโอบีฟรีแลนซ์ระดับมืออาชีพประสบการณ์หลักสิบปีคือ 3-5 พันบาท/คน/วัน) นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่ต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคลจึงสูงเป็นอันดับหนึ่ง
ตากล้องโอบีฟรีแลนซ์ที่ราคาถูกก็มี ราคาเพียงแค่หลักร้อยก็สามารถหาได้มากมาย ซึ่งไม่สามารถเทียบได้เลยกับตากล้องโอบีมืออาชีพราคาค่าจ้างแพงๆ ประสบการณ์ที่พวกเขามีนั้นสามารถทำงานได้อย่างดีและมีคุณภาพ
ต้นทุนด้านค่าที่พักและอาหาร
ที่พักและค่าอาหารคือต้นทุนอันดับสองรองจากต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคล ทีมงานโอบีส่วนมากล้วนเป็นผู้ชาย เมื่อทำงานหนักจึงทานอาหารมากกว่าปกติ ทีมงาน 8 คน อาจจะต้องซื้อข้าวถึง 20 กล่อง/มื้อ ยังไม่รวมไปถึงน้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลังต่างๆอีกจำนวนมากๆ
ต้นทุนด้านการเดินทาง
การขนอุปกรณ์จำนวนมาก และคนจำนวนหลายคน อาจจะต้องใช้รถตู้ 1 คัน หรือ รถกระบะ 2 คัน ทีมโอบีที่ไม่มีรถตู้อาจจะต้องเช่าซึ่งมีต้นทุนค่าเช่ารถและคนขับรถที่เพิ่มขึ้นมาอีก
ต้นทุนด้านการตลาด
แน่นอนว่าหากเราทำธุรกิจแล้วไม่บอกให้โลกรู้ เราก็ไม่มีคนรู้จัก และไม่มีลูกค้า การทำการตลาดจึงสำคัญไม่แพ้กัน แต่ละทีมใช้เงินจำนวนมากในการโปรโมทและโฆษณาทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ต้นทุนด้านค่าสถานที่หรือค่าสำนักงานและโกดัง
ค่าเช่าสำนักงานและโกดังเก็บของ ซึ่งเป็นรายจ่ายประจำทุกเดือน บางบริษัทที่มีสำนักงานอยู่ในพื้นที่ธุรกิจอาจจะต้องจ่ายค่าเช่าสำนักงานและโกดังในราคาที่สูงกว่า 6 หมื่นบาท/เดือน
สรุป การที่จะสร้างทีมโอบีขึ้นมาได้นั้นจะต้องใช้เงินและคนจำนวนมาก ต้นทุนแต่ละอย่างข้างต้นนั้นยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆเล็กๆน้อยๆ เช่น ค่าจ้างพนักงานประจำ ค่าภาษี ค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ ของสิ้นเปลืองต่างๆ ฯลฯ นั่นจึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไม ? ราคาค่าบริการของทีมโอบีจึงมีราคาแพง
ต้องการจ้างงานทีม OB แล้วจะเลือกยังไง ?
เริ่มจากการสำรวจราคาก่อนสัก 3 เจ้า แล้วเปรียบเทียบความน่าเชื่อถือ มาตรฐาน และราคาค่าบริการ แต่ละเจ้าก็มีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป
ทีม OB ก็เลือกลูกค้าเช่นกัน ไม่ใช่มีแต่ลูกค้าที่ต้องเลือกทีม OB
แน่นอนว่าแต่จะบริษัทก็วางราคาไว้เป็นมาตรฐานในการคัดเลือกและกรองลูกค้าด้วย ลูกค้าที่มีงบประมาณมากหน่อยและต้องการบริการที่ดีก็ต้องเลือกผู้ให้บริการที่ดูมีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือเป็นมืออาชีพและใช้อุปกรณ์ระดับสูง สำหรับลูกค้าที่มีงบประมาณไม่มากก็มีหลายบริษัทและฟรีแลนซ์ในตลาดที่พร้อมจะให้บริการเช่นกัน