หลังจากที่เราเข้าใจหลักการทำงานของ OB Switching เรียบร้อยแล้ว (หากบางท่านยังไม่เข้าใจสามารถย้อนกลับไปอ่านได้ที่ หลักการทำงานของชุดอุปกรณ์ OB Switching และ OB Switching หรือ การถ่ายโอบี OB คืออะไร ?) สิ่งที่ควรรู้จักถัดมาคือ Intercom และไฟคิว Tally เป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะช่วยให้การสื่อสารและการให้สัญญาณต่อตากล้องทำงานได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
อินเตอร์คอม (Intercom) คืออะไร ?
แน่นอนว่าการถ่ายโอบีจะต้องใช้คนหลายคน หากตากล้องแต่ละคนถ่ายตามใจตัวเองนั้นคงไม่ดีแน่ๆ จะขาดการวางแผนมุมภาพ เช่น โอบีมีกล้องอยู่ 3 ตัว กำลังถ่ายการแสดงอยู่บนเวที ตากล้องแต่ละคนถ่ายตามใจตัวเอง ตากล้องคนที่1ถ่ายแคบ (Close up) คนที่2ก็ถ่ายแคบ คนที่3ก็ถ่ายแคบเช่นกัน แน่นอนว่าภาพที่ออกมาทั้ง3กล้องจะมีแต่ภาพ Close up ทั้งสิ้น แต่ไม่มีภาพกว้างเลย (Wide) ทำให้วีดีโอนั้นตัดภาพได้ไม่สมบูรณ์ ฉะนั้นจะต้องมีผู้ควบคุม (Control) หรือคนสวิตภาพ (Switcher) คอยให้คำสั่งว่าจะให้ตากล้องแต่ละกล้องถ่ายแบบไหน เอามุมไหม ใครทำอะไร ผู้ควบคุมจะเป็นคนสั่ง ซึ่งการสั่งนี้จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Intercom โดยอินเตอร์คอมจะมีตัวแม่ (Base station) และตัวลูก (Client) ซึ่งตัวแม่จะติดตั้งอยู่ในชุดโอบี โดยคนสวิตภาพจะเป็นคนใช้อินเตอร์คอมตัวแม่ ส่วนอินเตอร์คอมตัวลูกนั้นก็จะให้ตากล้องและผู้ช่วยหรือผู้เกี่ยวข้อง หลักการทำงานจะคล้ายๆการโทรศัพท์แบบประชุม แต่ละคนสามารรถพูดและฟังได้พร้อมๆกัน มี 10 คน ก็สามารถพูดและฟังได้พร้อมๆกันทั้งวง (Full Duplex) ซึ่งไม่เหมือนวิทยุสื่อสารที่จะมีผู้พูดได้เพียงคนเดียว ไม่สามารถพูดพร้อมกันหลายๆคนได้ ส่วนคุณภาพของสัญญาณเสียงหรือความชัดเจนของเสียงนั้น อินเตอร์คอมจะได้ให้เสียงที่ดีกว่าวิทยุสื่อสารอยู่พอสมควร เปรียบเสมือนโทรศัพท์ด้วยสัญญาณ 4G แต่ข้อเสียของอินเตอร์คอมคือ มีราคาสูง ตั้งแต่หลายๆหมื่น ไปจนถึงหลักหลายๆแสน ตามจำนวนตัวลูก แต่หากเป็นวิทยุสื่อสารใช้เงินหลักพันก็สามารถหาซื้อมาใช้ได้แล้ว เมื่อเปรี่ยบเทียบราคาแล้วจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหลายๆทีมโอบียังใช้วิทยุสื่อสารในการสื่อสารระหว่างคนสวิตและตากล้อง
อินเตอร์คอมมีกี่แบบ ?
อินเตอร์คอมจะมี 2 แบบ คือ แบบมีสาย (Wire) และแบบไร้สาย (Wireless) ซึ่งแบบมีสายนั้นจะใช้สาย 1 เส้น ด้านในสายจะมีสายย่อยอีก 4-6 เส้น ใช้รับ/ส่ง สัญญาณเสียง รวมไปถึงภาคจ่ายไฟ และสัญญาณไฟคิวอีกด้วย ทั้งหมดจะอยู่ในสายไฟเพียงเส้นเดียว ระยะการใช้งานของอินเตอร์คอมแบบมีสายก็แล้วแต่ยี่ห้อและผู้ผลิต ในตลาดส่วนมากแล้วจะลากสายได้ประมาณ 80-150 เมตร หรือสายที่มีคุณภาพหน่อยอาจจะได้ 150-200 เมตร ข้อดีของอินเตอร์คอมแบบมีสายคือมีราคาถูกเมื่อเทียบกับแบบไร้สาย มีความเสถียรสูงเพราะไม่มีคลื่นรบกวน ใช้งานง่ายไม่ต้องจูนคลื่นใดๆ ทนทานกว่าแบบไร้สาย ถัดมาเป็นอินเตอร์แบบไร้สาย ซึ่งหลักการทำงานจะคล้ายๆอินเตอร์คอมแบบมีสาย ซึ่งจะมีตัวแม่ และตัวลูกเช่นกัน ต่างจากอินเตอร์คอมแบบมีสายเพียงแค่ ไม่มีสายไฟลากระหว่างตัวแม่และตัวลูก ข้อดีของอินเตอร์คอมไร้สายคือ สามารถใช้งานได้ไกล 200-300 เมตร หรือบางรุ่นอาจใช้งานได้ถึงหลักกิโลเมตร สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ เดินได้ทั่วงาน สะดวกมากที่สุด แต่ข้อเสียคือ อาจมีคลื่นรบกวน สัญญาณไม่เสถียร มีโอกาสที่ระบบจะล่มได้หากใช้อุปกรณ์ไม่มาตรฐาน ข้อเสียสุดท้ายคืออินเตอร์คอมไร้สายมีราคาที่แพงถึงแพงมาก
ไฟคิว (Tally) คืออะไร ?
ไฟคิวมีทั้งแบบมีสายและแบบไร้สายเช่นเดียวกับอินเตอร์คอม ไฟคิวจะทำหน้าที่ในการส่งสัญญาณไฟให้ตากล้องได้รู้ว่า ขณะนี้กล้องไหนที่กำลังตัดภาพอยู่ ไฟติดที่กล้องไหน คือ กล้องนั้นกำลังตัดภาพ หากไฟดับลงตากล้องสามารถเคลื่อนกล้องเปลี่ยนคอมโพสได้ทันทีโดยคนสวิตไม่ต้องพูดบอก ทำให้ทำงานได้สะดวกและรวดเร็ว ไฟคิวยังมีประโยชน์อีกอย่างคือให้พิธีกรรู้ว่ากล้องไหนที่กำลังตัดภาพอยู่จะได้มองกล้องนั้น
หากยังมีทุนไม่เยอะพอที่จะซื้ออินเตอร์คอมและไฟคิวมาใช้งาน แล้วจะทำงานกันอย่างไร ?
อินเตอร์คอมและไฟคิว ทั้งแบบมีสายและแบบไร้สายเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาสูง แต่ก็ไม่ใช่ว่าหากไม่มีจะไม่สามารถทำงานได้เลย มันแค่เป็นอุปกรณ์เสริมช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น ไม่ใช่อุปกรณ์หลัก เช่น กล้อง หากไม่มีกล้อง เราจะไม่สามารถทำงานได้ แต่ถ้าไม่มีอินเตอร์คอมและไฟคิว เรายังสามารถทำงานได้อยู่ โดยใช้อุปกรณ์ทดแทน เช่น ดัดแปลงระบบส่งเสียงทางเดียวโดยใช้ไมโครโฟน ผ่านพาวเวอร์แอมป์ ส่งผ่านสายไฟปลายทางเป็นหูฟังธรรมดาๆ แบบนี้ก็สามารถใช้งานได้ หรือจะใช้วิทยุสื่อสารธรรมดาๆก็ทำงานได้เช่นกัน ส่วนไฟคิวนั้นหากไม่มี คนสวิตก็จะต้องเป็นคนพูดบอกผ่านวิทยุสื่อสารเพียงเท่านี้ก็สามารถทำงานได้แล้ว